สุขภาพดี โลโก้

ข่าว สุขภาพ กรมควบคุมโรค เตือนระวัง

แมงกะพรุน

หัวข้อแนะนำ

ข่าว สุขภาพ  กรมควบคุมโรค แนะท่องเที่ยวปลอดภัย ระวังแมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกส หลังมีกระแสโซเชียลมีเดียพบแมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกสบริเวณชายหาดหลายพื้นที่ และพบผู้ได้รับบาดเจ็บจากการถูกพิษแมงกะพรุนหลายราย ที่หาดชลาทัศน์ จ.สงขลา เมื่อประชาชนรู้สึกตัวว่าถูกพิษแมงกะพรุนให้รีบขึ้นจากน้ำ รีบล้างพิษด้วยน้ำส้มสายชูบริเวณที่สัมผัสอย่างต่อเนื่อง และรีบพาไปโรงพยาบาลโดยเร็ว ห้ามล้างพิษด้วยการราดน้ำจืด เหล้าขาว ห้ามถูขยี้บริเวณที่สัมผัสพิษจะทำให้พิษเข้าสู่ร่างกายได้มากขึ้นอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้

กรมควบคุมโรค เตือนระวังแมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกส

แมงกะพรุน

ข่าว สุขภาพ  หลังพบในหลายพื้นที่ ย้ำ ห้ามถูบริเวณที่โดนพิษ อันตรายต่อชีวิตได้ วันนี้ (1 มีนาคม 2567) นายแพทย์วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ และโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากกระแสในสื่อโซเชียลมีการเตือนภัยพบแมงกะพรุนพิษสายพันธุ์ไฟหมวกโปรตุเกส บริเวณหาดชลาทัศน์ จ.สงขลา และพบมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการถูกพิษแมงกะพรุนหลายราย กรมควบคุมโรคจึงขอแนะนำวิธีช่วยเหลือผู้ถูกพิษแมงกะพรุนที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันการเจ็บปวดรุนแรง และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

แมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกส หรือเรียกอีกอย่างว่าแมงกะพรุนไฟเรือรบโปรตุเกส (Portuguese man-of-war) มีลักษณะเด่นบริเวณหัวจะมีลักษณะคล้ายหมวกทหารเรือรบโปรตุเกสโบราณ ลำตัวพบได้ทั้งสีน้ำเงิน สีม่วง สีชมพู หรือเขียว และมีหนวดที่มีพิษยาวได้ถึง 30 เมตร ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง ในประเทศไทยพบถูกกระแสน้ำพัดมาเกยตื้นได้ในบางฤดูกาลหรือช่วงมรสุม มีพิษร้ายแรง เมื่อสัมผัสพิษจะมีอาการปวดแสบปวดร้อนอย่างมาก อาจทำลายระบบประสาท ผิวหนัง หัวใจ ช็อก หัวใจล้มเหลว เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ หากลงเล่นน้ำทะเลและมีอาการปวดแสบปวดร้อนให้สงสัยว่าโดนแมงกะพรุนพิษ และให้ปฏิบัติดังนี้

1.รีบขึ้นจากน้ำทะเล และรีบขอความช่วยเหลือพร้อมโทรแจ้งหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน 1669

2.ห้ามทิ้งผู้บาดเจ็บอยู่คนเดียว เพราะอาจหมดสติหรือเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นได้

3.ให้ผู้บาดเจ็บอยู่นิ่งๆ และห้ามขัดถูบริเวณที่สัมผัสแมงกะพรุน เนื่องจากการเคลื่อนไหวอาจเป็นการกระตุ้นการยิงพิษ

4.รีบล้างพิษทันที โดยใช้น้ำส้มสายชูความเข้มข้น 4-6% ที่ใช้ในครัวเรือนทั่วไป ราดบริเวณที่สัมผัสแมงกะพรุนต่อเนื่องอย่างน้อย 30 วินาที (ห้ามราดด้วยน้ำจืด น้ำเปล่า หรือแอลกอฮอล์) น้ำส้มสายชูจะป้องกันไม่ให้ผู้บาดเจ็บได้รับพิษเพิ่มขึ้น

5.หากผู้บาดเจ็บไม่มีชีพจรหรือหยุดหายใจ ให้รีบทำการช่วยฟื้นคืนชีพ โดยการปั๊มหัวใจ ผายปอด ก่อนราดน้ำส้มสายชู และรีบนำผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนและนักท่องเที่ยว สวมเสื้อผ้ามิดชิดลงเล่นน้ำ ไม่ควรเล่นน้ำหลังฝนตก สังเกตจุดวางน้ำส้มสายชูและปฏิบัติตามป้ายแจ้งเตือน หากพบว่ามีซากของแมงกะพรุนอยู่ตามชายหาด ไม่ควรลงเล่นน้ำ หรือลงเล่นน้ำในบริเวณปลอดภัยที่เจ้าหน้าที่จัดไว้ให้เท่านั้น และให้ปฏิบัติตามคำเตือนของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

สถาบันประสาทวิทยา เตือนฝุ่น PM 2.5 ภัยคุกคามสุขภาพคนไทย

สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ เผย ฝุ่นจิ๋วหรือ PM 2.5 ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ที่เป็นภัยคุกคามร้ายแรงที่สุดต่อสุขภาพอนามัยของคนไทย ปัจจุบันนี้กลายเป็นวาระแห่งชาติและถือเป็นวิกฤตด้านสาธารณสุขในประเทศไทยด้วย ส่งผลกระทบทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ การดำรงชีวิตด้วยความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพทุกระบบไม่เว้นแม้แต่ โรคทางสมองและระบบประสาทนายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า องค์กรอนามัยโลก (WHO) ตั้งค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM 2.5 ในอากาศ ว่าหากมีเกินกว่า 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ถือเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ขณะที่ประเทศไทยกำหนดอันตรายของฝุ่น PM 2.5 อยู่ที่เกินกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันนี้ฝุ่น PM 2.5 กลายเป็นวาระแห่งชาติ และถือเป็นวิกฤตด้านสาธารณสุขในประเทศไทย ไม่ว่าจะทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ และประชาชนทุกกลุ่มต้องเสี่ยงดำรงชีวิตท่ามกลางฝุ่นควันพิษนี้ เดิมทีเราอาจไม่ได้คิดว่า PM 2.5 จะส่งผลกระทบใด ๆ ต่อสุขภาพ เพราะมีขนาดเล็กจนไม่สามารถมองเห็นได้ แต่ด้วยขนาดที่เล็กทำให้ฝุ่นจิ๋วสามารถเดินทางเข้าไปสะสมในสมองได้ ผ่านอย่างน้อย 3 ช่องทาง คือ 1. ผ่านผนังโพรงจมูกส่วนติดต่อสมองรับกลิ่น โดยจะซึมผ่านขึ้นไปที่สมองส่วนหน้าด้านล่าง 2. ผ่านเข้าไปในปอด เข้าไปถึงหลอดลม แล้วซึมเข้าสู่กระแสเลือดที่ไหลเวียนไปยังสมอง 3. ผ่านเข้าสู่ทางเดินอาหาร โดยการกลืนลมที่มีฝุ่นจิ๋วปะปนในระหว่างการพูดคุยแล้วดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด หรือไปเปลี่ยนจุลชีพและสภาวะแวดล้อมในทางเดินอาหารก่อนจะไหลเวียนไปที่สมองต่อไป

นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า มีการศึกษาพบว่ามีการสะสมของอนุภาคฝุ่นจิ๋ว ในสมองจริง โดยเฉพาะในสมองส่วนหน้า ซึ่งผ่านมาจากผนังโพรงจมูกส่วนติดต่อสมองรับกลิ่น โดยจะซึมผ่านขึ้นไปที่สมองส่วนหน้าด้านล่าง เพราะสามารถตรวจพบอนุภาคฝุ่นจิ๋วในสมองส่วนหน้าคล้าย ๆ กลุ่มโรคที่เกิดขึ้นในสมองโดยทั่วไป ไม่ว่าจะในเด็กเล็กที่อยู่ในช่วงเจริญเติบโต จะพบว่าพัฒนาการของสมองช้ากว่าเด็กที่ไม่ได้รับ นอกจากนี้ในสมองส่วนลึก ก็พบว่ามีโรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของภูมิคุ้มกันระบบประสาทเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ แปรผันตรงกับช่วงเวลาที่มีการเพิ่มขึ้นของฝุ่นจิ๋ว โดยอธิบายได้ว่า ฝุ่นจิ๋วมีผลกระตุ้นให้เกิดกระบวนการอักเสบในระบบประสาทส่วนกลาง และหากผลกระทบนี้ลุกลามไปยังสมองที่ทำหน้าที่อื่น ๆ ก็จะส่งผลให้การทำงานของสมองในตำแหน่งนั้นผิดปกติไป เช่น ทำให้เกิดความจำเสื่อม เป็นต้น ดังนั้นจึงขอให้ประชาชนระมัดระวังป้องกันตนเองจากฝุ่นจิ๋ว หากพบว่ามีฝุ่นในปริมาณสูง ควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นควัน นอกจากนั้นควรจะมีส่วนในการลดการสร้างฝุ่นจิ๋ว ด้วยการลดการเผา ลดการใช้รถยนต์ที่มีการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ และสนองตอบนโยบายของรัฐในการจัดการควบคุมปัญหาฝุ่นควัน เพื่อสุขภาพของตัวเราเองและส่วนรวม  ข่าว สุขภาพ